22 Feb องค์กรต่าง ๆ เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐ ฯ ระงับการนำเข้าแหอวนจากบริษัทไทย เนื่องจากหลักฐานบ่งชี้ถึงการบังคับใช้แรงงานในเรือนจำ
22 กุมภาพันธ์ 2565
องค์กรต่าง ๆ เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐ ฯ ระงับการนำเข้าแหอวนจากบริษัทไทย เนื่องจากหลักฐานบ่งชี้ถึงการบังคับใช้แรงงานในเรือนจำ
กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. – องค์กร Global Labor Justice – International Labor Rights Forum (GLJ-ILRF) และองค์กรภาคีที่เป็นสมาชิกคณะทำงานด้านอาหารทะเล (Seafood Working Group: SWG) เรียกร้องให้รัฐบาลของนายไบเดนรับประกันว่า บริษัทสัญชาติสหรัฐอเมริกาเลิกนำเข้าแหอวนที่ผลิตโดยบริษัทสัญชาติไทยที่บังคับใช้แรงงานผู้ต้องขัง
องค์กรดังกล่าวได้ยื่นจดหมายต่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยระบุว่า บริษัทไทยจำนวนสองบริษัท ได้แก่ บริษัท ขอนแก่นแหอวน จำกัด และบริษัท โรงงานทออวนเดชาพานิช จำกัด มีการใช้แรงงานในเรือนจำไทยโดยใช้เงื่อนไขที่แสวงหาผลประโยชน์จากแรงงาน องค์กรเหล่านี้เรียกร้องให้ประเทศสหรัฐอเมริกาดำเนินการสืบสวนและป้องกันไม่ให้บริษัทดังกล่าวขายแหอวนให้แก่บริษัทสหรัฐอเมริกา
กลุ่มองค์กรดังกล่าวได้ยื่นจดหมายหลังจากนางสาวนันท์ชนก วงษ์สมุทร นักข่าวชาวไทย เปิดเผยสภาพการทำงานในเรือนจำไทย ซึ่งใช้ผู้ต้องขังเป็นส่วนหนึ่งในการทำสัญญามูลค่าสูงกับบริษัทไทย ผู้ต้องขังกล่าวว่า ตนและเพื่อนผู้ต้องขังอีกหลายร้อยคนถูกบังคับให้ผลิตแหอวนโดยได้ค่าจ้างน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ หรือแม้แต่ไม่ได้รับค่าจ้างเลย ผู้ต้องขังยังกล่าวว่า บริษัทไม่ได้จัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย ทำให้เกิดบาดแผลที่เจ็บปวดอย่างยาวนานจากการบังคับให้ทำยอด หรือหากผู้ต้องขังปฏิเสธทำงานก็จะถูกทุบตีหรือทำโทษอย่างทารุณ
ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศระบุว่า บริษัทอาหารทะเลยักษ์ใหญ่อย่างเช่นบริษัท Trident Seafoodsรวมถึง Calusa Trading Co., Christiansen Co. (Duluth Nets) และ Gramter International USAเป็นผู้ซื้อผลิตภัณฑ์แหอวนจากบริษัทขอนแก่นแหอวน ส่วนบริษัท Fitech International Inc. ซื้อสินค้าจากบริษัทเดชาพานิช
SWG เรียกร้องให้บริษัทอาหารทะเลไทยและสหรัฐอเมริกามุ่งมั่นดำเนินนโยบายการจัดหาสินค้าที่มีความรับผิดชอบและสร้างความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานของตัวเอง อุตสาหกรรมประมงนั้นเต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิแรงงาน กลุ่มที่ทำงานส่งเสริมสิทธิแรงงานทั้งในไทยและระหว่างประเทศจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกวิถีทางที่ทำได้เพื่อยุติการบังคับใช้แรงงานและยกระดับมาตรฐานสำหรับแรงงานในภาคส่วนดังกล่าวทุกคน
“กรณีนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่พบได้มากมายของบรรษัทข้ามชาติในการจัดหาผลิตภัณฑ์ราคาถูกจากทั่วโลก โดยปลดเปลื้องความรับผิดชอบของตนเองในการปกป้องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจของตน พวกเราขอเรียกร้องให้บริษัทสหรัฐอเมริการับประกันว่า ซัพพลายเออร์ของตัวเองเคารพสิทธิของแรงงาน และเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาห้ามการนำเข้าแหอวนและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่พบว่ามีการบังคับใช้แรงงานผู้ต้องขังหรือการใช้แรงงานบังคับทุกรูปแบบ ไม่ควรมีแรงงานคนใดรวมถึงผู้ต้องขังที่ต้องเผชิญการบังคับใช้แรงงาน” นางสาวเจนนิเฟอร์ (เจเจ) โรเซนบาม ผู้อำนวยการบริหารของ GLJ-ILRF กล่าว
องค์กรภาคประชาสังคมทั้งไทยและระหว่างประเทศได้รวบรวมข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลไทย บริษัทแหอวนไทย และผู้ซื้อในสหรัฐอเมริกา เพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานในเรือนจำและยุติการบังคับใช้แรงงานในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
สถานการณ์การผลิตแหอวนไทย
การสัมภาษณ์อดีตผู้ต้องขังที่เคยผลิตแหอวนให้แก่บริษัทขอนแก่นแหอวนและเดชาพานิชและบริษัทอื่น ๆ และเคยพบเห็นผู้ต้องขังอื่น ๆ นับร้อยคนทำงานถักเย็บแหอวนภายในเรือนจำและที่โรงงานของบริษัทชี้ให้เห็นว่า ผู้ต้องขังถูกบังคับให้ทำงานโดยไม่มีทางเลือกโดยได้รับค่าจ้างเพียงเสี้ยวหนึ่งของค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายหรือแม้แต่ไม่ได้รับค่าจ้างเลย ต้องทำงานในสถานที่แออัด และได้รับบาดแผลจากเส้นใยถักอวนเนื่องจากขาดอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยและถูกกดดันให้ทำยอดอย่างไม่สมเหตุสมผล
ผู้ที่ไม่สามารถทำงานตามยอดอันไม่สมเหตุสมผลนี้หรือปฏิเสธการทำงานจะต้องเผชิญกับการทำโทษในรูปแบบต่าง ๆ อดีตผู้ต้องขังรายหนึ่งรายงานว่า “ผู้ต้องขังบางคนที่ดื้อไม่ยอมทำงานจะถูกทำโทษให้ถอดเสื้อนอนกลิ้งบนพื้นคอนกรีตร้อน ๆ กลางแดดไปมา บางคนก็ถูกตีด้วยกระบอง ซึ่งอาจจะเกิดจากการปฏิเสธทำงานหรือไม่สามารถทำตามยอด [ถักอวน] ได้” ผู้ต้องขังบางรายต้องถูกนำไปรักษาที่โรงพยาบาลนอกเรือนจำเนื่องจากได้รับบาดเจ็บสาหัส เช่น แขนหรือขาหัก
เจ้าหน้าที่เรือนจำยังใช้การข่มขู่ว่าจะยืดระยะต้องโทษเพื่อบังคับให้ผู้ต้องขังทำงาน และย้ำแก่ผู้ต้องขังซ้ำ ๆ ว่า พวกเขาไม่มีสิทธิใด ๆ และการยื่นเรื่องร้องเรียนนั้นไม่มีประโยชน์ อดีตผู้ต้องขังอีกรายกล่าวว่า “[เรือนจำ] ไม่มีการทำข้อตกลงหรือสัญญาที่ระบุรายละเอียดค่าจ้างกับผู้ต้องขัง พวกเขาไม่ได้อธิบายอะไรเลย เราทราบรายละเอียดจากเพื่อนผู้ต้องขังคนอื่น คุณต้องเข้าใจว่านี่คือ “ดินแดนสนธยา” เขาไม่ได้มองคุณเป็นมนุษย์” การสัมภาษณ์ให้หลักฐานการบังคับใช้แรงงานที่สำคัญตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาและตัวชี้วัดการบังคับใช้แรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)
ประเทศไทยมีประวัติการแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานในระบบเรือนจำมาเป็นระยะเวลานาน ดังที่องค์กรสิทธิมนุษยชนและสื่อได้รายงานในปีที่ผ่านมา เช่น การใช้การลงโทษและมาตรการทางวินัยต่อผู้ต้องขังอย่างกว้างขวางที่อาจถึงขั้นเป็นการทารุณกรรม รัฐบาลไทยยังคงจ้างแรงงานผู้ต้องขังเพื่ออุดภาวะขาดแคลนแรงงานในประเทศที่เกิดขึ้น อย่างเช่นการเสนอนโยบายโดยกระทรวงแรงงานในปี 2558 เกี่ยวกับการจ้างผู้ต้องขังในการทำงานบนเรือประมง ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ทราบกันดีว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงานมาก เมื่อเร็ว ๆ นี้ในปี 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเสนอให้สร้างนิคมอุตสาหกรรมที่บริษัทสามารถจ้างผู้ต้องขังให้มาทำงานในโรงงานแปรรูปอาหารทะเลเพื่อบรรเทาภาวะขาดแคลนแรงงานเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และลดความแออัดในเรือนจำ
ประเทศไทยประสบความยากลำบากในการขจัดการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลซึ่งสามารถทำกำไรมหาศาล ในปี 2564 กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาได้ลดอันดับประเทศไทยเป็น “Tier 2 Watch List” ตามรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report: TIP Report) เนื่องจากสถานการณ์การบังคับใช้แรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะในภาคประมง แม้ว่าบริษัทอาหารทะเลไทยและผู้ซื้อชาวสหรัฐอเมริกาจะได้พัฒนาความคิดริเริ่มต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อขจัดการใช้แรงงานบังคับในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย แต่เรายังคงได้รับรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิอย่างต่อเนื่อง
GLJ–ILRF เป็นองค์กรที่รวมตัวกันใหม่และทำงานเพื่อเพิ่มศักยภาพเชิงยุทธศาสตร์ข้ามภาคส่วนในห่วงโซ่มูลค่าโลกและในพื้นที่แนวเชื่อมระหว่างประเทศของการอพยพย้ายถิ่นของแรงงาน
คณะทำงานด้านอาหารทะเล (Seafood Working Group: SWG) เป็นเครือข่ายระดับโลกขององค์กรสิทธิมนุษยชน แรงงาน และสิ่งแวดล้อม ที่ทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาและรณรงค์สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพและการดำเนินการในระดับอุตสาหกรรม เพื่อหยุดปัญหาที่เกี่ยวเนื่องจากการแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงาน การประมงผิดกฎหมาย และการประมงเกินขีดจำกัดในการค้าอาหารทะเลระหว่างประเทศ
###
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย บริษัทแหอวนไทย และผู้ซื้อในประเทศสหรัฐอเมริกาต่อไปนี้ถูกพัฒนาโดยองค์กรภาคประชาสังคมไทยและระหว่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในประเด็นการบังคับใช้แรงงานในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก
สำหรับรัฐบาลประเทศไทย
- รับประกันว่า สภาพการทำงานของผู้ต้องขังเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง หรือข้อกำหนดเนลสันแมนเดลลา และข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือข้อกำหนดกรุงเทพ โดยเฉพาะข้อกำหนดเนลสันแมนเดลลาที่ระบุว่า “จัดให้มีระบบจ่ยค่าตอบแทนในการทำงานของผู้ต้องขังอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม” และ “การใช้แรงงานในเรือนจำต้องไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด”
- ปฏิบัติตามหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับหน้าที่ของรัฐในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและรับประกันการเข้าถึงการเยียวยาด้วยวิธีในกระบวนการทางตุลาการ การปกครอง และนิติบัญญัติ
- บังคับใช้ “กฎกระทรวงว่าด้วยการคำนวณรายได้เป็นราคาเงินและการจ่ายเงินรางวัลให้แก่ผู้ต้องขัง ซึ่งการงานที่ได้ทำนั้นก่อให้เกิดรายได้ซึ่งคำนวณเป็นราคาเงินได้ พ.ศ. ๒๕๖๓” ซึ่งกำหนดให้ผู้ต้องขังได้รับเงินเป็นจำนวนร้อยละ 70 ของกำไรทั้งหมดจากงานที่ทำ
- หยุดแผนทั้งหมดในการจ้างงานผู้ต้องขังในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงแผนในลักษณะเดียวกันอื่น ๆ ในการจ้างงานผู้ต้องขังเพื่อบรรเทาภาวะการขาดแคลนแรงงาน
- ให้คำแนะนำและการฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่เรือนจำเพื่อหยุดการใช้ความรุนแรงทางกายภาพในการบังคับผู้ต้องขังให้ทำงานหรือทำยอดอันไม่สมเหตุสมผล ข้อกำหนดเนลสันแมนเดลลาระบุว่า “ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ จะต้องไม่มีการจำกัดเสรีภาพหรือการลงโทษทางวินัยใด ๆ ถึงขั้นเป็นการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิบัติดังต่อไปนี้ต้องถือเป็นข้อห้าม (ก) การขังเดี่ยวโดยไม่มีกำหนดเวลา (ข) การขังเดี่ยวต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน (ค) การบังคับให้ผู้ต้องขังอยู่ในห้องมืดหรือมีการเปิดไฟสว่างตลอด (ง) การลงโทษทางกายหรือการตัดทอนอาหารหรือน้ำดื่มของผู้ต้องขัง (จ) การลงโทษแบบกลุ่ม (Collective punishment)”
- ดำเนินการตรวจแรงงานอย่างสม่ำเสมอและสืบสวนข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับการใช้แรงงานในเรือนจำทุกกรณี พร้อมตีพิมพ์รายงานข้อค้นพบและให้การชดเชยเหยื่อการละเมิดอย่างเหมาะสม
- ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถเข้าถึงผู้ต้องขังทุกคนอย่างอิสระ อย่างสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่ให้ไว้ในกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review) รอบที่ 2
- ให้องค์กรพัฒนาเอกชนที่มีหน้าที่รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องดำเนินการเยี่ยมเยือนสถานที่กักขัง สัมภาษณ์ผู้ต้องขัง และประเมินสภาพการทำงานโดยปราศจากอุปสรรคที่ไม่เหมาะสม
สำหรับบริษัทแหอวนไทย – บริษัทขอนแก่นแหอวนและบริษัทเดชาพานิช
- รับประกันว่า สภาพการทำงานในกิจการของบริษัทของคุณและในห่วงโซ่อุปทานและความสัมพันธ์ทางธุรกิจของบริษัทสอดคล้องกับกฎหมายประเทศไทย กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ
- ปฏิบัติตามหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยดำเนินการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านในสถานประกอบการทุกแห่งที่ยังอยู่ภายใต้สัญญากับบริษัทของคุณ หรือที่กำลังเจรจาสัญญากันอยู่ ซึ่งรวมถึงการประเมินการละเมิดที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้น หยุดกิจกรรมที่มีส่วนทำให้เกิดการละเมิด เผยแพร่นโยบายและการดำเนินการด้านการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน และให้การเยียวยาที่มีประสิทธิภาพต่อการละเมิดแรงงานที่พบ
- ร่วมมือกับผู้ซื้อในประเทศสหรัฐอเมริกาในการให้การเยียวยาแก่อดีตผู้ต้องขังที่ทำงานถักเย็บแหอวนในสภาพการทำงานที่แสวงหาประโยชน์ภายใต้สัญญาของบริษัทคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการให้การชดเชยสำหรับค่าจ้างค้างจ่าย
- มุ่งมั่นเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานต่อสาธารณะ เพื่อรับประกันความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานและสนับสนุนองค์กรด่านหน้าในการระบุและรายงานการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานตั้งแต่ต้น
สำหรับผู้ซื้อในสหรัฐอเมริกา – Calusa Trading Co., Gramter International, Trident Seafoods, H. Christiansen Co., และ Fitec International U.S.
- ปฏิบัติตามหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยดำเนินการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านตลอดห่วงโซ่อุปทานและในสถานประกอบการทั้งหมดที่ยังอยู่ภายใต้สัญญากับบริษัทของคุณหรือสัญญาในอนาคตที่กำลังอยู่ในขั้นตอนเจรจา ซึ่งรวมถึงการประเมินการละเมิดที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้น หยุดกิจกรรมที่มีส่วนทำให้เกิดการละเมิด เผยแพร่นโยบายและการดำเนินการด้านการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน และให้การเยียวยาที่มีประสิทธิภาพต่อการละเมิดแรงงานที่พบ
- ร่วมมือกับบริษัทขอนแก่นแหอวนและเดชาพานิชในการให้การเยียวยาอดีตผู้ต้องหาที่ทำงานถักเย็บแหอวนในสภาพการทำงานที่แสวงหาประโยชน์ขณะที่อยู่ภายใต้สัญญากับบริษัทของคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการให้การชดเชยสำหรับค่าจ้างค้างจ่าย
- มุ่งมั่นเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานต่อสาธารณะ เพื่อรับประกันความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานและสนับสนุนองค์กรด่านหน้าในการระบุและรายงานการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานตั้งแต่ต้น
- ให้การสนับสนุนเชิงรุกแก่การนำโครงการการตรวจสอบการนำเข้าอาหารทะเลของประเทศสหรัฐอเมริกา (S. Seafood Import Monitoring Program: SIMP) ไปปฏิบัติ เพื่อรับประกันความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกและเพื่อป้องกันกาเข้ามาของสินค้าที่มาจากการบังคับใช้แรงงานในตลาดสหรัฐอเมริกา
_______
###